".. ทั้ง 3 บทความนี้ อ.พวงทองหวังว่า จะทำให้ผู้อ่านเห็นถึงประวัติศาสตร์ด้านที่ไทยเป็นฝ่ายกระทำต่อประเทศเพื่อนบ้าน และอาจช่วยให้คนไทยเข้าใจมากขึ้นถึงความรู้สึกของประเทศเพื่อนบ้านที่มีต่อไทย .."
พิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พิมพ์ครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 จำนวน 2,000 เล่ม ราคา 190 บาท จัดจำหน่ายโดยศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนื้อหาภายในบอกเล่าความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาตลอด 200 กว่าปี ผ่านบทความ 3 ชิ้น ซึ่ง อ.พวงทองระบุว่า เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน แต่มีจุดร่วมกันประการหนึ่ง คือ เกิดจากการคะยั้นคะยอของ อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครองคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ขอให้ อ.พวงทองเขียนบทความให้แก่หนังสือที่ อ.ธเนศเป็นบรรณาธิการ
บทความทั้ง 3 เรื่อง ประกอบด้วย
“เส้นทางการค้าสองฝั่งโขงกับการฟื้นฟูอาณาจักรลุ่มเจ้าพระยา” บอกกล่าวถึงเรื่องราวการฟื้นฟูอำนาจของสยามบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ที่ไม่ได้อธิบายเพียงในกรอบของ “การเมือง-ศาสนา” เท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง
“ศัตรู พันธมิตร และเงินตรา : สายใยร้อยรัดไทย-เขมรแดง” เรื่องราวความสัมพันธ์ของไทยและเขมรแดง ที่มีผลประโยชน์มหาศาลเข้ามามีส่วน
และ “ความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-กัมพูชา ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ค้ารายย่อยอีกต่อไป” ที่ชี้ให้เห็นว่า หากไทยดำเนินการปิดล้อมทางการค้ากับกัมพูชา ผลกระทบไม่ได้เกิดแก่กัมพูชาฝ่ายเดียว หากประเทศไทยเองที่จะได้รับความเสียหายมากกว่า
ทั้ง 3 บทความนี้ อ.พวงทองหวังว่า จะทำให้ผู้อ่านเห็นถึงประวัติศาสตร์ด้านที่ไทยเป็นฝ่ายกระทำต่อประเทศเพื่อนบ้าน และอาจช่วยให้คนไทยเข้าใจมากขึ้นถึงความรู้สึกของประเทศเพื่อนบ้านที่มีต่อไทย อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับประเทศเพื่อนบ้าน
“แต่แน่นอนว่าความเข้าใจในทัศนคติที่เพื่อนบ้านมีต่อเราอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ความเข้าใจต่อตนเองมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นคือ ความเข้าใจว่าอะไรคือมายาคติแบบไทยที่ปิดกั้นโอกาสในการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติและเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน”
อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วอาจจะได้เข้าใจถึงมายาคติอย่างที่ อ.พวงทองกล่าวถึง มายาคติของความรู้สึกเหนือกว่าของคนไทยที่มีต่อกัมพูชา เมื่อเข้าใจแล้วอาจจะเกิดมุมมองด้านใหม่ขึ้นมาได้..
------------------------
หมายเหตุ - ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน คอลัมน์ รหัสหนังสือ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓